สรุปผลการดำเนินโครงการ คพข. แลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการ 5
ในปีงบประมาณ 2556 ฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ พิจารณาเห็นว่าที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดอบรมให้แก่ คพข.ในรูปแบบต่างๆ ประกอบกับ คพข. ได้ปฏิบัติงานมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ทั้งด้านงานตามหน้าที่และงานตามยุทธศาสตร์ คพข. จึงเห็นควรให้มีการทบทวนบทบาทความรู้ความเข้าใจด้านพลังงานและกระบวนการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของ คพข. เพื่อพัฒนาและปรับปรุงศักยภาพในการทำหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่องานกำกับกิจการพลังงาน ตลอดจนยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง คพข. สำนักงาน กกพ. และ กกพ. ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ฝ่าย คส. จึงได้ดำเนินการจัดฝึกอบรมในโครงการ คพข.แลกเปลี่ยนเรียนรู้ 5 “สรุปบทเรียนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ คพข.” เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมาของ คพข. ทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ โดยแบ่งตามภูมิภาคจำนวน 4 ครั้ง
ครั้งที่ 1 (ภาคเหนือ) ระหว่างวันที่ 6 – 8 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมสุโขทัยเทรเชอร์ รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดสุโขทัย โดยมี คพข. เขตที่เข้าร่วมประกอบด้วย คพข. เขต 1, 2 และ 3
ครั้งที่ 2 (ภาคใต้) ระหว่างวันที่ 27 – 29 มิถุนายน 2556 ณ โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง โดยมี คพข. เขตที่เข้าร่วมประกอบด้วย คพข. เขต 10, 11 และ 12
ครั้งที่ 3 (ภาคอีสาน) ระหว่างวันที่ 4 – 6 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมเซนทารา คอนเวนชั่นเซนเตอร์ จังหวัดอุดรธานี โดยมี คพข. เขตที่เข้าร่วมประกอบด้วย คพข. เขต 4, 5 และ 6
ครั้งที่ 4 (ภาคกลาง) ระหว่างวันที่ 25 – 27 กรกฎาคม 2556 ณ โรงแรมเรือโบราณ (คุ้มหม่อมไฉไล) จังหวัดนครปฐม โดยมี คพข. เขตที่เข้าร่วมประกอบด้วย คพข. เขต 7, 8, 9 และ 13
ในการอบรมแต่ละครั้งมีผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กกพ.ส่วนกลาง เจ้าหน้าที่จากสำนักงาน กกพ. ประจำเขตต่างๆ ผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้แทนจากพลังงานจังหวัด สื่อมวลชนท้องถิ่นเข้าร่วมในการอบรมแต่ละครั้งด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 239 คน
ในส่วนของรูปแบบและเนื้อหาในการจัดฝึกอบรมหลักสูตรนี้ เป็นการจัดฝึกอบรมรวม 3 วัน 2 คืนให้กับ คพข. ในแต่ละภูมิภาค โดยมีกิจกรรมหลักเป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กับ คพข. เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมาของ คพข. ทั้ง 13 เขต ทั่วประเทศ การดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานตามมาตรา 99 แห่ง พรบ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งได้มีการยกปัญหาข้อร้องเรียนของผู้ใช้ไฟฟ้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยมีรูปแบบและเนื้อหา ดังนี้
1. การประยุกต์ใช้หลักธรรมาภิบาลในการขับเคลื่อนภาคประชาชน โดย ดร.อรัญ โสตถิพันธ์ เพื่อให้ทราบถึงหลักธรรมาภิบาลและการนำไปใช้ในการพัฒนางานภาคประชาชน และให้มีการสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม การเมืองอย่างสมดุล ส่งผลให้สังคมดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ตลอดจนมีการใช้อำนาจในการพัฒนาประเทศชาติให้เป็นไปอย่างมั่นคง ยังยืน และมีเสถียรภาพ
2. ปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงาน โดยคุณพิสิษฐ์ สุนทรีรัตน์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้ทราบถึงการกำหนดให้ปี 2556 เป็นปีแห่งการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน
แนวทางการดำเนินการจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงาน
- ประเด็นหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการ ที่เหมาะสม เป็นธรรม และควบคุมตรวจสอบได้
- ประเด็นด้านมาตรฐานสัญญาบริการ การบริการที่เหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค
- ประเด็นด้านมาตรฐานคุณภาพบริการ การให้บริการของผู้ประกอบการ ความโปร่งใส กับผู้ใช้พลังงาน และเป็นกลไกในการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้พลังงานให้ได้มาตรฐาน
- ประเด็นมาตรฐานความปลอดภัย ตาม พรบ.การประกอบกิจการพลังงาน 2550 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการออกใบอนุญาต รวมทั้งศึกษาถึงกฎหมายว่าด้วยกรมโรงงาน กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยผังเมือง และกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน นอกจากนี้ยังรวมถึงมาตรฐาน EIA ESA CoP IEE และ EHIA
- ประเด็นการให้ความคุ้มครองต่อผู้ใช้พลังงานตามกระบวนการร้องเรียนผ่าน คพข. หลักเกณฑ์การยื่นร้องเรียน การรับเรื่องร้องเรียนและวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน
3. กรณีไฟฟ้าดับภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยดร. พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชี้แจ้งให้ทราบถึงข้อมูลที่แท้จริงกรณีเกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้วันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เนื่องจากเกิดฟ้าผ่า ขณะฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง ณ ต.บ้านลาด อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี และกำลังการผลิตไฟฟ้าภาคใต้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ส่งผลให้ความถี่ในระบบไฟฟ้าภาคใต้ลดต่ำลง ทำให้ กฟผ. และ กฟภ. ต้องสั่งปลดโหลด ดับไฟบางพื้นที่ แต่ยังไม่เพียงพอ ทำให้โรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่ในภาคใต้ ปลดตัวเองออกจากระบบโดยอัตโนมัติ เป็นผลให้ไฟดับภาคใต้ 14 จังหวัด
แนวทางแก้ไขปัญหา
- ระยะสั้น ปรับปรุงระเบียบ ข้อปฏิบัติ และวิธีการประสานงาน
- ระยะกลาง ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า ติดตั้งอุปกรณ์เสริม Smart Techและส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
- ระยะยาว ก่อสร้างโรงไฟฟ้า และระบบสายส่งเพิ่มเติม
4. สรุปบทเรียนการดำเนินงานยุทธศาสตร์ คพข. โดยประธาน คพข. ทั้ง13 เขต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของ คพข. ในแต่ละเขต รวมทั้งนำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กกพ. ได้ดำเนินการจัดเวทียุทธศาสตร์ปี 2555-2556 รวม 120 เวที
ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
คส. ได้รวบรวมข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานจาก คพข. ที่เข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในเวทีระหว่างการฝึกอบรมทั้ง 4 ครั้ง โดยสามารถแบ่งเป็นกลุ่มหลักๆ ได้ ดังนี้
1. ด้านพลังงานทดแทน ขอให้ กกพ. มีบทบาทในการสนับสนุนพลังงานทดแทน
2. ด้านความต้องการการมีไฟฟ้าใช้ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการขยายเขตไฟฟ้าพื้นที่ห่างไกลซึ่งติดขัดในส่วนของพื้นที่ป่าไม่และป่าสงาน เนื่องจากมีขั้นตอนระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่
3.ประเด็นปัญหาไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้
- กฟผ. แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหาย โดยให้ กกพ. กำหนดมาตรการชดเชยให้ผู้เสียหายทุกกรณี
- กกพ. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเร่งด่วนรวมถึงให้ตัวแทนผู้ใช้พลังงานเข้ามีส่วนร่วม
- กกพ. กำหนดมาตรการบังคับให้ กฟผ. มีแผนฉุกเฉินรองรับกรณีไฟฟ้าดับ ต้องแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า 2 วัน
4. ด้านปัญหาบริการของการไฟฟ้า
- ควรมีการแจ้งเตือน เช่นแจ้งผ่าน SMS และตั้งหน่วยรับชำระให้มากขึ้น
- ควรยืดระยะการตัดไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟ ที่ไม่เคยผิดนัดชำระในรอบ 1 ปี
- ควรมีผู้รับผิดชอบความเสียหายกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากเสาไฟฟ้าหักโค่นทับทรัพย์สินชาวบ้านเสียหาย หรือทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรเป็นเหตุให้สัตว์เลี้ยงตาย
5. ด้านราคา
- ขอให้ยกเลิกคู่มือการคำนวณราคาก๊าซ และค่าบริการส่งก๊าซ เพื่อจัดทำขึ้นใหม่
- ขอให้ทบทวนราคารับซื้อก๊าซของ กฟผ. ที่ซื้อจาก ปตท. มาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า
- ขอให้ยกเลิกการเรียกเก็บค่าเอฟที ของผู้ใช้ไฟฟ้าครัวเรือน
6. ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กกพ.
- ขอให้ กกพ. ให้ความสำคัญกับการที่ คพข. จะมีส่วนร่วมในเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ใช้พลังงาน
- ขอให้ กกพ. มีข้อเสนอทางนโยบายให้แยกโครงข่ายสายส่ง ออกจากกระบวนการผลิตไฟฟ้า
- ขอให้ กกพ. ออกระเบียบว่าด้วยการผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์ แม้ กม. ไม่บังคับให้ทำ EIA แต่ต้องมีฉันทามติจากชุมชนจึงจะออกใบอนุญาตได้ (หากไม่มีฉันทามติจากชุมชน กกพ. ต้องไม่อนุญาตให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่ำกว่า 10 เมกกะวัตต์)
- ขอให้ กกพ. มีข้อเสนอต่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในการกระจายกองทุนอนุรักษ์พลังงานในระดับจังหวัด
- ขอให้เพิ่มสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน เพื่อให้ คพข. สามารถติดต่อกับผู้ใช้พลังงาน / ชาวบ้านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- ขอให้ กกพ. ออกมาตรการให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพลังงานระดับจังหวัดได้เพื่อกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดกำหนดแผนพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่